อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชก (Surge) ประเภทแสดงสถานะการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ (Percentage) แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร ?

ปัจจุบันอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกที่มีจำหน่ายทั่วไป ผู้ใช้งานหลายท่านอาจสงสัยว่าอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกจะมีประสิทธิภาพในการรับไฟกระโชกเป็นเช่นไร ใช้ไปแล้วเป็นเวลาระยะหนึ่งจะมีการเสื่อมประสิทธิภาพเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นก็จะมีเพียง Indicator บ่งบอกให้ทราบว่าอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกเสียหายเท่านั้น จึงมีผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกบางรายเริ่มคิดหาวิธีให้อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกสามารถที่จะแสดงประสิทธิภาพในการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกได้ โดยที่จะมี Indicator แสดงถึงสถานะเป็นตัวเลข ค่าเปอร์เซนต์ของประสิทธิภาพในการรับไฟกระโชก เช่น ใช้งานในระยะแรก ประสิทธิภาพการรับไฟกระโชก จะอยู่ที่ 100% แต่เมื่อใช้งานเป็นระยะเวลาหนึ่ง อุปกรณ์ป้องกันเกิดการเสื่อมประสิทธิภาพการรับไฟกระโชกลดลงมาอยู่ที่ 80% ทำให้ผู้ใช้งานอุปกณ์ป้องกันไฟกระโชกเข้าใจว่าขณะที่ใช้งานอยู่นี้มีประสิทธิภาพการป้องกันไฟกระโชกที่ระดับใดแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจผู้ใช้งานอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกว่า แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร ?

สำหรับอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกประเภทแสดงสถานะการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ Percentage สามารถที่จะแสดงประสิทธิภาพในการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกได้ อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกลักษณะนี้จะมี หลอดไฟ LED แสดงสถานะการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น 100%, 80%, 60%, 40% และ 20% ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกมีขนาดในการรับกระแสไฟกระโชกที่ 100 kA ที่รูปคลื่น 8/20 Sec หลอดไฟ LED แสดงสถานะการทำงานขณะถูกต่อใช้งานอยู่ที่ 100% หากอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกได้รับไฟกระโชก จนหลอดไฟ LED แสดงสถานะการทำงานลดลงเหลือ 80% ลักษณะเช่นนี้แสดงว่าอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกจะไม่สามารถรับกระแสไฟกระโชกได้ 100 kA เช่นเดิม แต่จะสามารถรับกระแสไฟกระโชกได้เพียง 80 kA เท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้โหลด หรืออุปกรณ์ที่ท่านต้องการป้องกันมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นด้วย แท้ที่จริงโครงสร้างภายในอุปกรณ์ป้องกันฯได้อาศัยหลักการ ของ Multi MOV [รายละเอียดตามบทความ Single MOV (MOV ตัวใหญ่ตัวเดียว) VS Multi MOV (MOV ตัวเล็กหลายตัวต่อขนานกัน) อย่างไหนดีกว่ากัน ?] ตัวอย่างรูปที่ 1 เช่น ใช้ MOV ขนาด 4 kA จำนวน 5 ตัวมาต่อขนานกันจะได้ 20 kA ทำเช่นนี้จำนวน 5 ชุด จะได้ขนาด 100 kA โดยแต่ละชุดจะถูกเชื่อมต่อไปยังวงจรควบคุมเพื่อแสดงผลค่าการรับไฟกระโชก ผ่านหลอด LED อยู่ที่ 100% เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับ MOV ชุดใดก็ตาม วงจรควบคุมจะสั่งให้หลอด LED ดับที่ละดวง ก็จะส่งผลให้หลอดไฟ LED แสดงสถานะเปลี่ยนไปมีค่าเป็น 80% และถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอีกหลอดไฟ LED ค่าจะเปลี่ยนเป็น 60% เป็นเช่นนี้ทุกครั้งที่ MOV ได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกประเภทแสดงสถานะการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ (Percentage) ไม่สามารถรับไฟกระโชกได้เท่ากับขนาดการรับกระแสไฟกระโชกสูงสุดที่ถูกระบุไว้ในอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกนั้นๆ

 

รูปที่ 1 วงจรภายในของอุปกรณ์ป้องกันฯ ประเภทแสดงสถานะการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์

 

อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกแท้ที่จริงแล้วการเสื่อมประสิทธิภาพนั้นจะเกิดขึ้นกับ Component ที่ใช้ในการรับไฟกระโชก ประเภท MOV เมื่อ MOV ได้รับไฟกระโชก ตัว MOV จะทำงานโดยรับกระแสไฟกระโชกผ่านตัวมัน ซึ่งหากได้รับไฟกระโชกบ่อยครั้ง ก็จะทำให้ค่าความต้านทานของตัว MOV เปลี่ยนไป เช่น MOV รับไฟกระโชกได้ 100 kA และมีค่าความต้านทาน 1 ล้านโอห์ม มีค่า Leakage current น้อยกว่า 5 mA เมื่อได้รับไฟกระโชกบ่อยครั้ง ค่าความต้านทานจะเปลี่ยนไปเช่น ลดลงเหลือ 8 แสนโอห์ม (แต่ยังคงรับไฟกระโชกได้ 100 kA เหมือนเดิม) และมีค่า Leakage current เพิ่มมากขึ้น เมื่อได้รับไฟกระโชกบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ทุกๆครั้งที่ค่าความต้านทานของตัว MOV เปลี่ยนแปลง ค่า Leakage current ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย (แต่ยังคงรับไฟกระโชกได้ 100 kA เหมือนเดิม) เป็นผลทำให้เกิดกระแสรั่วไหลผ่านตัว MOV มากขึ้นตามลำดับ ตัว MOV ก็จะเกิดความร้อน ส่งผลทำให้ MOV ค่อยๆเกิดการเสื่อมสภาพอย่างต่อเนื่องและที่สุดก็จะได้รับความเสียหายจากแรงดันของระบบไฟฟ้าที่ต่อใช้งานอยู่ เหตุเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายกับ Component ที่ใช้ในการรับไฟกระโชก ประเภท MOV จึงทำให้มีอายุการใช้งานหลายปี แต่ถ้าอุปกรณ์ป้องกันฯรับกระแสไฟกระโชกที่มีขนาดเกินกว่าที่อุปกรณ์จะรับได้ก็จะได้รับความเสียหายได้ ในด้านของประสิทธิภาพในการรับกระแสไฟกระโชก ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกมีขนาดในการรับกระแสไฟกระโชกที่ 100 kA ที่รูปคลื่น 8/20 Sec เมื่อได้รับไฟกระโชกบ่อยครั้ง จนค่าความต้านทานของตัว MOV เปลี่ยนแปลงลดน้อยลง แต่จะไม่ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรับไฟกระโชกลดน้อยลงตาม ซึ่งจะยังคงอยู่ที่ 100 kA เช่นเดิมซึ่งโหลดก็ยังจะได้รับความปลอดภัยสูงสุด จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชกที่สามารถแสดงสถานะเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ช่วยทำให้ผู้ใช้งานทราบถึงประสิทธิภาพในการรับไฟกระโชกของอุปกรณ์ตัวนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลนี้ก็พอจะเป็นแนวทางให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชก มีความเข้าใจในการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟกระโชก ได้อย่างถูกต้อง ได้ประสิทธิภาพในการรับกระแสไฟกระโชกได้สูงสุด และโหลดได้รับความปลอดภัยสูงสุดด้วย

กลับสู่ด้านบน